article
ปกิณกะ 4
พอเล่า วัน ขึ้น – แรม เดือนที่จะทำพิธีครบ ปัญหาก็ตามมาทันที เพราะบอกแต่แรกแล้วว่า วันถือพรต. แบบเดิม 68 วัน ต่อมาลดลงเหลือ 58 วัน แล้วก็ 54 (เหมือนสงกรานต์จะให้หยุดติดต่อกัน 9. วัน คงจะให้ทำแบบ นวราตรี ของโบสถ์พระศรีอุมาเทวี ที่มี 9. วัน.) แต่วันหยุด หรือวันถือพรต. น้อยลงมาก ไปหาปฏิทินของโบสถ์วัดแขก สีลม. ดูเอาเอง
ที่ว่า ‘มีปัญหา’ คือ
จะเริ่มตั้งแต่เดือน ไชตร หรือ ไจตร. ไทยเรียก จิตรา เดือนห้า.
แบบอินเดียดี. หรือเดือน อ้าย ยี่ ก็เป็นแบบไทยโบราณ
กับแบบฝรั่ง คือ มกรา – กุมภา.
ปัญหาคือ จะไม่ทันวันถือพรตสำคัญๆ ที่คนไทยติดตามกัน
แล้วก็ตัดสินใจ เลือกเล่าจากฤดู ศศิระ (ฤดูลมหนาว.) เพราะเป็นฤดู เดือนมกรา (ปลายเดือน.) จนกุมภา. ทางอินเดีย เดือน มารฆะ จนเดือน ผลคุณ บางแห่งเขียน ไภคุณ เพราะอินเดียก็แบบเดียวกับไทย แต่ละรัฐออกเสียงไม่เหมือนกัน (รัฐโอริสสา. มีจริงน่า.)
เชียงใหม่กับลำปาง ห่างกัน 90 กิโล
การออกเสียง ภาษาถิ่นยังไม่เหมือนกันเลย
และชื่อพิธีกรรม ลอกมาจากอินเดีย ออกเสียงก็ไม่แน่ใจ ยิ่งเขียนยิ่งแย่ใหญ่ คำใดที่ค้นและคว้าจากสันสกฤตได้ ก็จะคว้ามาก่อน ถ้าพบภายหลังจะทำบันทึก ท้ายเล่มให้
ตอนนี้ อ่านๆไปก่อนนะ เข้าใจกันแล้วนะ
เพราะ ‘นายห้าง’ เพื่อนซี้กัน พอจะถามไถ่
ก็ไปเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าเสียแล้ว
เจ้าเพื่อนที่เป็นฮินดู ก็อยู่กรุงเทพฯ
รวมความว่า จะใช้ เวิบส์ ทู เดา ไว้ก่อน
ศศิระ (ลมหนาว) ก่อนจะเล่าถึงพิธีกรรมในฤดูนี้ ควรจะเล่าเสียก่อนว่า ฮินดูมี สํสฺการ (สังสการ.) คือพิธีอันจำเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ตั้งครรภ์จน วิวาหะ (สังสการ คือ ทำให้บริสุทธิ์, ชำระให้บริสุทธิ์ จึงใช้ในคำ หมายถึง เผาศพ. ด้วยก็ได้,เผาด้วยไม้หอม น้ำมันหอม ไม่ใช่..ปิ้ง..ย่าง.. ด้วยแก๊สหรือไฟฟ้า ไม่งั้นวิญญาณจะไปเกาะติดกับสายไฟฟ้า ไม่ลอยตามควัน.ขึ้นสวรรค์ ที่พาราณสี จึงเผาศพด้วยฟืนมา 4. พันปี จนบัดนี้ เตาเผาศพด้วยไฟฟ้า ใช้สำหรับผู้ไม่มีเงินจะซื้อฟืนไม้แพงมากเพราะหายากขึ้นทุกปี ก็เนื่องจาก ใช้ฟืนมา 4. พันปีละมัง)
การ สํสฺการ : – เริ่มด้วยการตั้งครรถ์ ‘ครฺภาธานํ’ พอรู้ว่าตั้งครรภ์ต้องทำ ยัญ. หรือ การบูชา (ไม่ใช่ฆ่าสัตว์) จากนั้นพอ ‘เป็นตัว’ เรียกว่ามี ปราณ หรือ ศักติ เรียก ‘ปุสวนิ’ ก็ทำยัญ บูชา อีก (ไม่ได้บูชาลูก หากบูชาเทพยดาให้คุ้มครองลูก.) พอตั้งครรภ์ เดือนที่สี่ หก แปด ก็ทำพิธี ‘สีมนฺโตพฺนยนํ’ คือ เดือนที่ 4-5-6 มักจะคลอดก่อนกำหนด และมีมากเดือน 7-8 ก็จะคลอดเด็กจะอ่อนแอ ต้องทำพิธีช่วยละ
พอคลอดก่อนตัดสายสะดือ
ต้องใช้ช้อน ‘ทองครรม’ (ทองคำ)
ใส่เนยใส แตะริมฝีปากเด็ก ‘ชาตกรฺมฺม’
การตัดสายสะดือ คือการตัดสายใยทิพย์ จึงป้อนเนยใส่ถวายเทพก่อน จากนั้นในวันที่ 10-12 จะตั้งนามเด็ก หรือวันที่ ร้อยเอ็ด. ก็ได้ ต้องทำพิธี ‘นามกรณํ’ ต่อไปคือ พิธี ‘นิกฺรมณํ’ คือการอุ้มทารก ไปดูพระจันทร์ ในเวลาขึ้นสามค่ำ เดือนสาม (วันตริติยะ เดือนมาฆะ) หรือดูพระอาทิตย์ (ยามเช้า ไม่ใช่เที่ยง) ในเดือนสาม หรือเดือนสี่
พอทารกอายุ 6 – 8 ป้อนข้าวได้ ต้องทำพิธี อนฺนปฺราศนํ (หรือจะตอนฟันขึ้นก็ได้)
พอทารกอายุ 2 – 3 ขวบ ทำพิธีตัดจุก เรียก จุฑาการยํ
อายุ 5 ขวบ ทำพิธี คาดสายมงคล (ถ้าเป็นพราหมณ์เรียกสาย ยัชโญปวีต. แสดงวรรณ : สวมจากซ้ายไปขวา บางทีเรียก สายธุรำ. ) คือพิธี อุปนยนํ
พออายุ 5 – 8 บางคนถูกจับคู่ไว้แต่เด็ก หากพออายุ 16-18 จะทำพิธี ‘วิวาห’ (วิวาหะ คือ ฝ่ายชายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง ถ้า อาวาหะ = หญิงไปอยู่บ้านฝ่ายชาย การไปอยู่ อพาร์ทเมนต์. ยังหาศัพท์ไม่พบ จะมีอีกคำ คือ วิวาเหาะ)
แค่ทำยัญญะ 10ครั้ง ก็หมดทรัพย์แล้ว
จะเล่าต่อว่า จะมีพิธีกรรม ปีละ 68 – 54 ครั้ง
ควรทำอะไรบ้าง
สนุกจะแย่
ทมยันตี/.
उมยันติ่