news
โอม สักการัสสะ เตชะสา วิธิมหิ โหมิ เตชะวา
สัจจกิริยา ประสิทธิเม
พิธีศิวาราตรี เพื่อสืบสานประเพณี ณ ล้านนาเทวาลัย
โอม สักการัสสะ เตชะสา วิธิมหิ โหมิ เตชะวา
สัจจกิริยา ประสิทธิเม
พิธีศิวาราตรี เพื่อสืบสานประเพณี ณ ล้านนาเทวาลัย
ที่ฝังความรัก – ศรัทธา – ความทรงจำ
.
ตอนเขียนแบบล้านนาเทวาลัย เราแจ้งกับอาจารย์อดุลย์ตั้งแต่แรกเลย
ว่า ขออาณาเขตเล็กๆ สำหรับใช้ฝังอัฐิเรา ชิดอาณาเขตเทวาลัย ไม่ควรอยู่ในเขตเทวาลัย
.
เราสอนลูกทุกคนเสมอมาว่า ความตายเป็นปกติ
แม่เคยเสีย คุณตา – คุณยาย ต่อไปพวกเราก็ต้องเสียแม่
อย่าหอบกระดูกแม่ไปไหนเลย ให้พระแม่ธรณีไปเถอะ
ศรัทธาและความเป็นสุดท้ายของแม่อยู่ที่เทวาลัย ก็เอาไว้ตรงนั้น
.
อาจารย์อดุลย์ มองหน้าเรากับยอดไม่พูดสักคำ
.
แต่มุมหนึ่งของเทวาลัย ใกล้ลำธารบัวบานเต็มลำน้ำ มีสะพานโค้งทอดข้าม สะพานแทนสายรุ้ง ทอดจากพื้นดินสู่สวรรค์
เขตนั้นอยู่จุดหัวนอน “หอรินนิทรา”
ยามมีชีวิต เข้านอนใน หอรินนิทรา
ยามจากไป แค่เลื่อนเราลงมาฝังลงดิน
ตรงนั้นชิดกำแพงหอนอน มีซุ้มกุหลาบสีชมพูอ่อนจางเป็นสีขาว แทนนามปากกาแรกคือ “โรสลาเรน” และมีม้านั่งเก่าๆ แบบโบราณ ยอดสัญญาว่า จะปั้นรูปแม่กำลังนั่งอ่านหนังสือ และเจ้าน้องๆ เห็นพ้องว่า จะต้องมี “เจ้าโบ้” ตัวโปรดนั่งเสนอหน้าอยู่ด้วย
.
กับเรามีเทวดาองค์น้อยมีปีก
กำลังคุกเข่าเปิดหนังสืออ่าน
งานชิ้นนี้จะอยู่ตรงจุดฝังอัฐิเรา
บนหน้าหนังสือที่เปิดอยู่ จะจารนามปากกาทุกนามปากกาไว้
.
เราเตรียม “จุดพักผ่อนสุดท้าย” ของเราแล้ว
เหลือเพียงเราอยากได้ต้นศรีตรังอีกสักต้นเพราะดอกจะเป็นสีม่วงน้ำเงิน เช่นสีหมึกที่เราใช้เขียนต้นฉบับมาแล้ว 64 ปี
.
เราหา ศรีตรัง … หากมีผู้หาสิ่งที่วิเศษกว่านั้นมาให้
.
อาจารย์ด็อกเตอร์นคร พงษ์น้อย ผู้อำนวยการไร่แม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่านนำต้น Jacaranda จาก Queensland ออสเตรเลีย มาให้ถึงเทวาลัย ต้นไม้นี้ถิ่นกำเนิด (ต้นแม่) อยู่ในออสเตรเลีย ดอกสี Violet – Blue (ดูภาพวาดต้นแม่เอาแล้วกัน)
.
ส่งตรงจากออสเตรเลีย สู่กรุงเทพฯ อยู่ที่กรุงเทพฯ 7 วัน
แล้วขึ้นเครื่อง ลงเชียงราย พักอยู่ 2 วัน
วันที่ 3 อาจารย์นคร ใส่รถจากเชียงรายพร้อมคนปลูก
ท่านมายืนคุม ขุดหลุด ปลูกให้เองกับมือ ทันทีที่มาถึงเชียงใหม่
วันนั้น คือ วันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2560
วันพิธี สตมวาร (100 วัน) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
เราทั้งหมดถือเป็นต้นไม้ ปลูกถวายวัน สตมวาร จุดที่เตรียมไว้
เรา “หมดสิทธิ์” ไปหาจุดของตัวเองใหม่
(คงแถวๆ .. ปลายพระบาทลงมา ก็เป็น .. ข้าทูลละอองธุลีพระบาทไง)
.
มืออาจารย์นครที่เปื้อนดิน ปรกสองข้าวหัวเราแล้วให้พร “ทุกอย่าง” ที่เตรียมไว้สมบูรณ์
.
ต่อไป … คนที่รักเราและเรารักจะมายืนตรงนี้
อาจจะถาม … ข้างล่างสบายไหม ?
เราจะตอบ …
… ที่นี่ เงียบสงบ เย็น ศานติ
ไส้เดือน กระซิบ ชวนคุยเล่น
รากหญ้า ห่ม กอดรัด ยามหนาวเย็น
ฝัน ถึงวัน โลดเต้น บนแผ่นดิน…
.
เราไม่ตาย ตราบพวกมาเยือน จำเราได้
เราไม่ตาย เพราะอักษร ยังกองเกลื่อน
เราไม่ตาย คนฝันถึง เราไม่เลื่อน
Under the Jacaranda จะเตือน
…..เราอยู่ข้างใต้นั้นไง ….
กิจกรรมสวดมนต์ วันวิสาขบูชา วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
โอม
สักการัสสะ เตชะสา
วิธิมหิ โหมิ เตชะวา
สัจจกิริยา ประสิทธิเม
รูป “ดอกบัวสมาธิ” เป็นภาพทางเดินทอดยาวจากประตูเข้าเทวาลัย จนถึงบันไดขึ้น กระทั่งที่กราบเทวรูป ทางเดินจะทำเครื่องหมาย จักรทั้ง 7 เป็นระยะ จากจุดเริ่ม มูลธาร จนถึง สหัสสราระ วิมานพระวิษณุ ดอกบัวพันกลีบ ย้อนไปเปิดหาคำอธิบาย จักรทั้ง 7 ในร่างกายได้
ทางเดินนี้จะให้คนเข้าสู่เทวาลัย ทบทวนจักรในร่างกายตน
โดยเฉพาะจักร มณีปุระ อยู่กึ่งกลางร่างกายสำคัญมาก จีนเรียก จุดตันเทียน จุดกำลังภายในไง
พิธีโปรยดอกไม้สีทอง (กลีบดอกดาวเรือง) สร้างเป็นสัญลักษณ์มงคล
เพื่อเป็นบุญถวายแด่องค์เทวา ณ ล้านนาเทวาลัย
.
การบูชาด้วยการโปรยดอกไม้ มีมาตั้งแต่ครั้งในอดีตมาจนกระทั้งถึงสมัยพุทธกาล
ดังปรากฏใน “สุวรรณปุปผิยเถราปทานที่ ๕ (๑๑๕)”
ว่าด้วยผลแห่งการโปรยดอกไม้ทอง ๔ ดอก (ดอกดาวเรือง) กล่าวว่า พระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี เชษฐบุรุษของโลก ประทับนั่งแสดงอมตบทแก่หมู่ชนอยู่ มีผู้ฟังธรรม ได้โปรยดอกไม้ทอง ๔ ดอกบูชาแด่พระพุทธเจ้า
ดอกไม้ทองนั้นกลายเป็นหลังคาทองบังร่มตลอดทั่วบริษัท ในกาลนั้น รัศมีของพระพุทธเจ้าและรัศมีทองรวมเป็นแสงสว่างอันไพบูลย์ ผู้พบเห็นมีจิตเบิกบานดีใจ เกิดโสมนัส ประนมกรอัญชลี เกิดปิติสุข
.
ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม 8 ภาค 2 “อรรถกถาอโวปุปผิยเถราปทาน” มีการกล่าวถึง เถระองค์หนึ่งได้บำเพ็ญบุญสมภารไว้ในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ฟังพระธรรมเกิดความเลื่อมใส จึงเอาดอกไม้ต่างๆ ด้วยมือทั้งสอง เกลี่ยไว้เบื้องบนถวายแด่พระพุทธเจ้า ด้วยบุญกรรมนั้นทำให้ท่านท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย . ตามความเชื่อของชาวอินเดีย การโปรยดอกไม้เป็นการแสดงความเคารพ ศรัทธา และยกย่องให้เกียรติแก่ผู้ที่สูงศักดิ์ มักพบในงานมงคลเช่นงานแต่งงาน ความหมายของการโปรยดอกไม้คือการอวยพรให้ปราศจากภยันตรายและให้พบแต่ความโชคดี มีสุข มักพบในการสักการะเทพเจ้าในศาสนาฮินดู
.
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ทางล้านนาเทวาลัยได้ต้อนรับแขกคนสำคัญที่มาเยือนอย่างส่วนตัว
และได้เป็นตัวแทนคณะศรัทธาล้านนาเทวาลัยทุกท่านโปรยกลีบดอกไม้
.
โดยเลือกกลีบดอกดาวเรือง (กลีบสีทอง)
โปรยเป็นลายจักระบัวมงคล ถวายแด่องค์มหาเทพและพลังงานสูงสุด เพื่อให้งานใหญ่ที่ท่านจะจัดทำนั้น สำเร็จลุล่วงตามที่ตั้งไว้
ดอกไม้แห่งนิรันดร์กาล
ประโยคนี้มิได้เขียนให้ไพเราะเช่นในนวนิยาย แต่จะบอกว่า ดอกไม้แห่งนิรันดร์กาล เป็นดอกไม้ที่สดชื่นอยู่เสมอ ไม่มีวันตาย เป็นดอกไม้ที่บานอยู่ในชีวิตเราเอง
.
จริงหรือที่เราจะไม่ แก่ เจ็บ ตาย
เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เราจะเรียน รู้ ได้และความทุกข์จะค่อยคลายที่ละน้อย
ทุกข์จะผ่านมา แล้วผ่านไป
ทุกข์ ..มันจะเป็นเช่นนั้นเอง..ตถตา
.
ฉะนั้นจากทุกข์นี้เอง ทำให้บังเกิดพระพุทธเจ้า ผู้ทรง ตื่น รู้ เบิกบาน เคยตั้งคำถามกับชาวพุทธเสมอ
พระพุทธเจ้า ทรงบังเกิดเมื่อใด
และ ทรงตรัสรู้อะไร
ธรรมใดที่ทรงแสดง โดยไม่ต้องอาราธนา
บางส่วนจะตอบได้บ้าง ไม่ได้บ้าง และบางส่วนก็จะยิ้ม คือ..ไม่รู้.. จึงเป็นปัญหาของชาวพุทธที่แม้แต่รายละเอียดบางประการ เราก็ ‘สักแต่ว่ารู้’ เช่นกัน
ก่อนที่ ‘พระพุทธเจ้าจะทรงบังเกิดนั้น’
ท่านทรงเป็น ..เจ้าชายสิทธัตถะ และทรงเล่าเรียนกับโยคีจนจบ
แต่โยคศาสตร์และเวทศาสตร์ ตอบคำว่า ‘ทุกข์’ ไม่กระจ่าง
กระนั้น บางครั้งยามเอ่ยถึงพระองค์ ยังใช้คำ มหามุนี
และในวันเพ็ญ เดือนหก พระชนมายุ 35 พรรษา
จึงทรง ‘ตรัสรู้’ เป็น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
(สมฺมาสมฺพุทโธ = ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ในอริยสัจ 4 โดยไม่ทรงเรียนรู้จากผู้ใด )
.
ฉะนั้นที่ทรงตรัสรู้ก่อนธรรมอื่นๆ คือ อริยสัจ 4 ประการ จากทุกข์ ที่ทรงพยายามหาคำตอบ เพราะเป็นรากเหง้าในหัวใจทุกคนจนทรงทราบ ‘ตลอดสาย’ ถึงเหตุ การดับทุกข์ และหนทางที่จะพ้นทุกข์
และท้ายสุด ทุกข์ มันจากตัวเองทั้งสิ้น
ฉนั้นที่เป็น ‘ตัวเรา’ มันมาจากอะไร
ปฏิจจสมุปบาท คือสิ่งที่อาศัยกันจึงเกิดขึ้น ทุกข์ก็เกิดจากการอาศัยกัน
และนี่คือ ข้อธรรมแรกแห่งการตรัสรู้
และเป็นธรรมที่ทรงแสดง ปฐมเทศนา แก่พระปัญจวัคคีย์
ณ วันเพ็ญ เดือน 8 หลังทรงตรัสรู้ 2 เดือน
อริยสัจ และปฏิจจสมุปบาท จึงเป็นธรรมที่ทรงตรัสรู้ และสอนปัญจวัคคีย์ โดยยังมิต้องอาราธนา และจากปฏิจจสมุปบาท ทำให้คนชาวพุทธ เริ่มรู้ถึง รูปและนาม
.
ห่วงโซ่แห่งชีวิต
วิม-ลา