article
วิญญานํ อสรีรํ เอกจรํ (๑)
ขอยกคำบาลี มากล่าวเพื่อให้รู้ว่า พุทธพจน์ได้กล่าวไว้ดังนั้น จะได้มั่นใจว่า การทำความเข้าใจในวิญญาณ มิได้แผกจากพุทธศาสนา และเป็นความเข้าใจแต่แรกเริ่ม เพราะหากไม่เข้าใจว่า
วิญญาณคืออะไร มาจากไหน
การปฏิสนธิ วิญญาณ ‘มา’ อย่างไร
และพอตาย ที่ว่า วิญญาณออกจากร่างไปทางไหน
แล้วเราก็เข้าใจกันว่า วิญญาณคือผี
ดังนั้นจึงต้องเข้าใจเรื่องวิญญาณให้ลึกซึ้งเสียก่อน หาไม่จะพูดเรื่อง กรรม วิบากกรรม การกลับชาติมาเกิดรวมทั้ง นรก สวรรค์ ไม่ถูกต้องเลย
เรากลัว กรรม จนหาวิธี ล้างกรรม ทำได้จริงไหม
เรากลัว นรก แต่ไม่แน่ใจเรื่องสวรรค์ จะเชื่อได้ไหม
การศึกษาเรื่องวิญญาณ คือพื้นฐานทั้งหมด เรามาจากไหน ‘อะไร’ มาปฏิสนธิในครรภ์มารดา กับปัญหาที่สงสัยกันเป็นอันมากคือ
“ทำไมคนเกิดมากขึ้น ?”
เหตุและปัจจัย ล้วนมาจากวิญญาณทั้งสิ้น
เหตุ คือเค้ามูลเรื่องราวสิ่งที่ทำให้เกิดผล
ปัจจัย คือเหตุที่ทำให้ผลเป็นไปหรือเครื่องหนุนให้เกิด
ในการทำความเข้าใจ จะใช้คำอธิบายง่ายๆ เช่นของอาจารย์พรล้วนๆ แต่บางคำในทางธรรมกับทางโลกก็ยังผิดยังกันได้ เช่น ปัจจัย จะแปลว่า เครื่องยั้งชีวิต คือ ทรัพย์ ก็ได้ และที่แทรกคำบาลีไว้ เพราะเป็นคำที่ ‘ควรพอรู้’ เนื่องจากถ้าไปพบธรรมบรรยายที่ใด จะทำให้พอทราบบ้าง
สิ่งแรกที่ เราควรทราบคือ วิญญาณคืออะไร
และเป็นเรื่องแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ วิญญาณไม่ใช่ผี
วิญญาณนั้นเป็นอีกสิ่งหนึ่งนอกร่างกาย เป็นคำเดียวกับภาษาบาลีคือ จิต มโน วิญญาณจึงไม่ใช่สมอง กระแสไฟฟ้า กระแสแม่เหล็ก (หากมีคุณสมบัติบางอย่างละม้ายกัน ซึ่งจะอธิบายต่อไป)
วิญญาณเป็นพลังงานชนิดหนึ่ง แต่เป็น นามธรรม
นามธรรม คือสิ่งที่สัมผัสไม่ได้ด้วยประสาททั้งห้า
ฉะนั้นวิญญาณ จึงเป็นอสรีรํ คือ อสรีระ ไม่มีรูป
กับ เอกะ จรํ คือ ไปแต่ผู้เดียว
ฉะนั้น วิญญาณ กับ โอปะ ปาติกะ จึงไม่เหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้ ที่เราว่าคนตายมาปรากฏให้เห็น แล้วเราเรียกว่า ผี จึงมิใช่ แต่เป็นชีวิตประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นทันทีโดยสมบูรณ์
ดังที่พระพุทธองค์รับสั่งถึง กำเนิดสี่ คือ
ชลาพุชะ สัตว์ที่เกิดในครรภ์ คลอดออกมาเป็นตัว เช่น คน สุนัข
อัญฑชะ สัตว์ที่เกิดมาเป็นฟอง และฟักเป็นตัว เช่น นก เป็ด ไก่
สังเสทชะ สัตว์ที่เกิดจากไคล เช่น หนอน พยาธิ แบคทีเรีย
โอปปะปาติกะ คือ เกิดแล้วเป็นตัวทันที เช่น มนุษย์บางพวก เทวดา สัตว์นรก เปรต เหล่านี้เวลาสิ้นอายุขัย ก็จะไม่เหลือ เชื้อหรือซาก
โอปปะปาติกะ ที่เป็นเทวดา เราเคยรู้ แม้ไม่เคยเห็นก็เข้าใจได้ ทว่าที่บอก ‘มนุษย์บางพวก’ นั้นไม่ค่อยจะเชื่อกันนัก ยกเว้นคนเคยเห็น คนลับแล (ลับ-แล ยากจะเห็น) หรือ คนบังบด (บังไม่ให้เห็น)
ฉะนั้น เทวดา ,เทพ,เทวะ ก็คือ โอปปาติกะ พวกหนึ่ง
โอปปะปาติกะ นี้มีจำนวนมากมาย มากกว่าชีวิตมนุษย์ไม่รู้กี่พันเท่า
ฉนั้นจึงมี โอปปะปาติกะ มาเกิดได้มาก เพิ่มได้เสมอ
แต่ช่วงระยะเวลาจะมาเกิดแตกต่างกัน ซึ่งจะค่อยๆอธิบายต่อไป
ฉนั้นเมื่อพูดถึง พลังงานวิญญาณ จะมีนัยยะ 6 ประการ ทางพุทธศาสนา
ตาเห็น เรียก จักษุวิญญาณ
หูได้ยิน เรียก โสตวิญญาณ
จมูกได้กลิ่น เรียก ฆานะวิญญาณ
ลิ้นรู้รส เรียก ชิวหาวิญญาณ
การรู้สึกสัมผัส เรียก กายวิญญาณ
ความรู้สึกนึกคิด เรียก มโนวิญญาณ (มน+วิญญาณ)
(มะนะ=ใจ+วิญาณ=วิ=ดี,วิเศษ,ต่างๆ ญาณ=ธาตุรู้)
ที่เขียน มน = มะนะ หรือ วงเล็บสระ อะไว้ เพื่อให้อ่านถูก เพราะ คำศัพท์จะมีทั้ง บาลี สันสกฤต ที่พยัญชนะโดดๆ หมายความว่า การออกเสียงจะมี อะ เสมอ หรือถ้าตัวหน้าเสียงสูง การอ่านจะออกเสียงสูงด้วย เช่น
ศรี เราจะอ่านสี หากความจริงต้องอ่าน สะ-หลี
หาไม่จะอ่านเสียงเดียวกัน ความเข้าใจจะสับสน
แต่ไศล เราอ่าน สะไหล แปลว่า ภูเขา
ความจริงอ่านไศ-ละ
ในการเขียนพยายามจะบอกการอ่าน ซึ่งต่อไปจะรู้วิธีเองและจะเข้าใจศัพท์ดีขึ้น เพื่ออธิบายว่า วิญญาณเป็น อสรีรํ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีวรรณะ ไม่มีสี-เสียง
คำถามคือ เวลาทำสมาธิแล้วมีแสงสว่างได้ยังไง
แสง หรือ สี นั้น ไม่ใช่ วิญญาณ
หากเป็น แสง-สี จากจิต เกิดจากจิต
ปัญหาต่อไปคือ จิตกับวิญญาณเหมือนกันไหม?
อาจารย์พร เคยให้คำตอบไว้ว่าในคัมภีร์พระไตรปิฎก และคัมภีร์พุทธศาสนาทั้งหมด คำเหล่านี้มีความหมายเหมือนกัน คือ จิต มโน มนัส วิญญาณขันธ์
(ไตรปิฎก = ไตร =3 ปิฎก = ตระกร้า ประกอบด้วย วินัยปิฎก คือ พระวินัย สุตตันตปิฎกคือพระสูตร = อภิธรรมปิฎก คือ พระอภิธรรม)
พระไตรปิฎก หากอยากจะทราบ ควรหา ‘พระไตรปิฎก’ สำหรับประชาชนมาอ่าน จะเข้าใจได้ง่ายความจริงในพุทธพจน์ยาวกว่านั้น หากยกมาแค่ 2 คำ เพียงเพื่อรู้ว่า ..จิตหรือวิญญาณเป็นนามธรรม ไม่มีรูป และ ไปแต่ผู้เดียว เกิด-ดับ เร็วมาก เหมือน ไฟฟ้ากระแสสลับ ที่เราเห็นแสงติดต่อกัน หาเราจับไม่ได้ถึงกระแสสลับ เกิด-ดับ นั้น
ด้วยเหตุนี้ ลูกแฝด ก็มิได้มี จิตปฏิสนธิพร้อมกัน
แม้ตายพร้อมกัน หากจิตวิญญาณจะมิได้ไปอยู่ที่เดียวกัน เนื่องจากวิบากกรรมต่างกัน
หากจะถามว่า ‘ทำไม’ คำตอบจะตอบตอน ‘กรรมและวิบากของกรรม’ หากเราเข้าใจ ‘จิตวิญญาณ’ แล้ว ก็จะเข้าใจกฎแห่งกรรมดียิ่งขึ้น
กฎแห่งกรรม เป็นกฎที่สำคัญยิ่งในพุทธศาสนา
วิญญาณนั้นรู้ถึงอารมณ์มีมาสัมผัส หากไม่เข้าใจ คือ ‘รู้สักแต่ว่ารู้’ เพราะความเข้าใจ เป็น เจตสิก คือ ปัญญา ฉะนั้นรู้สึกแต่ว่ารู้ จึงมีต่อสิ่งที่มีชีวิตทุกประเภท ซึ่งพืช แม้แต่สัตว์เซลล์เดียวก็มีชีวิตแบบ รู้สึกแต่ว่ารู้
ฉะนั้นเมื่อรู้แล้วมีปัญญาจึงเป็นชีวิตอีกแบบหนึ่ง การกล่าวว่าต้นไม้มีชีวิต เพราะต้นไม้มีกรรมวิธีการเกิด แบบคนและสัตว์เจริญจากรากฐานภายใน (ทางวิทยาศาสตร์หมายถึงดี.เอ็น.เอ.) เติบโตจากอาหารได้ทางราก มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีการสืบพันธุ์ มีเกสรดอกตัวผู้ ตัวเมีย (บางชนิด ตอน. หรือ เพาะจากเนื้อเยื่อ – โคลนนิ่ง)
ทุกอย่างของต้นไม้ จึงมีความหมาย มีชีวิต
ต้นไม้ย่อมมีวิญญาณ ทว่า ‘รู้สักแต่ว่ารู้’
ประโยคนี้เราจะได้ยินตอนทำสมาธิ เพื่อให้สงบดุจ ต้นไม้ ..รับรู้สึกแค่รู้ รับรู้แต่ไม่รับเอามาเป็นอารมณ์..
รู้. ที่กล่าวจึงเป็น รู้ทางอายตน = ตาดู หูฟัง เพราะวิญญาณ มีอยู่ 2 ประเภท
วิถีวิญญาณ แปลว่า จิตสำนึก จิตที่เกิดตามวิถี วิถี = ทาง ซึ่งรู้กันอยู่แล้วว่ามี หกทวาร ทวาร = ประตูทางเข้า-ออก ตา หู จมูก ลิ้น กาย มโน (กาย = กายสัมผัส รู้ ร้อน เย็น , มโน คือ เกิดทางใจ ที่คิดไปสร้างไปต่างๆทางบาลีเรียกสังขาร)
ภวังค์วิญญาณ แปลว่า จิตไร้สำนึก จิตนี้แม้เกิด จะเป็นเวลาที่ไม่รู้ตัว เช่น หลับสนิทไม่ฝัน คำนี้แยกศัพท์ ได้เป็น
ภว+องคฺ+วิญญาณ (วิ+ญาณ)
ภว = ภพ
องคฺ = ส่วนที่สำคัญ,รากฐาน
วิญญาณจึงเป็นรากฐานสำคัญ ขณะที่เรา อ่าน เรียน เราก็มีวิญญาณ แม้ยามอยู่ในท้องมารดา ก็มีวิญญาณ หากถ้าเด็กดิ้น จะไม่รู้ตัวว่าดิ้น ยามหลับสนิท ถ้าถูกแตะเบาๆ จะไม่รู้สึกตัว
ฉะนั้น ขณะนั้นเรียก อยู่ในภวังค์วิญญาณ
มนุษย์ จึงมี รูปและวิญญาณ อันเป็นนามธรรม
ทว่า นาม+รูป ทางพุทธศาสนากล่าวว่า
สวาสุ นามรูปํ ทุกขํ
สวาสุ นามรูปํ อนิจจํ
สวาสุ นามรูปํ อนตฺตา
การทำความเข้าใจใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นความเข้าใจ พื้นฐานของชาวพุทธ อันจะนำไปสู่ธรรมะในหัวข้อ
อริยสัจ
ปฏิจจสมุปบาท
ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เป็นการเริ่ม ‘กงล้อแห่งธรรม’