Your address will show here +12 34 56 78
article

เมื่อเริ่มเขียนมาได้ 2-3 เทศกาล จังเอะใจว่า ตำราของนายห้างไม่ค่อยเรียงตาม ‘ติธิ’ คือ ดิถีในวิธีเรียกของไทย และบอกแล้ว สองเล่มก็ไม่ ‘ค่อย’ จะเหมือนกัน เรียกว่านายห้าง ‘อินิ ตามใจฉานนะนาย’  (ถ้ายังอยู่คงกลับไปทะเลาะกัน แล้วก็จะโดนถามว่า..จะไปทำทำไมทุกวัน แค่ไหว้ท่านทุกวัน ทำพิธีเฉพาะงานใหญ่ๆ ก็พอ และนายห้างเองก็ทำอย่างนั้น เราเห็นหิ้งในร้าน มีธูปจุด ก้านธูปเต็ม ทีแรกคิดว่า..คงไหว้พระอย่างเราทำกัน ต่อมาจึงสังเกตว่าเป็น เทวรูปพระศิวะ งามมาก ก็ขอซื้อเอาดื้อๆ นายห้างสั่นหัว เพราะเป็นเทพีที่บูชาทุกวัน ก็ขอ..ขอ..ขอ จนวันหนึ่งมองหน้าเรานิ่งๆ ก่อนบอกว่า ..ซื้อมาคิดเป็นเงินไทยราว 500 บาท ต้องให้ 501 บาท ต้องมีกำไร 1 บาท ใครจะไปต่อล่ะ เราทิ้งท้ายก็คิดว่าคงหนักมาก แต่..เบาหวิว..ไม่ใช่ปาฏิหาริย์หรอกน่า เป็นกระดาษที่ประกอบมาจากองค์จริง ทาสีเหมือนองค์จริง เพราะนายห้างบอกว่า ..จำลองจากองค์จริงของ อินเดีย)

ที่เล่ายาวเพราะ นายห้างไม่เคยตั้งเทวรูปพระศิวะที่เดิมอีกเลย และต่อมาก็เสียชีวิต เทวรูปพระศิวะ ยังตั้งเป็นประธานในที่ทวยเทพ ให้เราไหว้ต่อมาด้วยความรำลึกถึง ‘เพื่อน’ ที่ให้ตำราทวยเทพมาศึกษา และเวลามีชีวิตจะอ่านพระเวทให้เราฟังบางบท ที่เขาสาธยายได้

ใครก็ตามที่ให้ความรู้ คือ คุรุ แห่งเราทั้งสิ้น

หากเมื่อตำราอธิบายจากปฏิทิน ไม่เรียง และเราไม่ได้เทียบกับปฏิทิน จึงเห็นว่าไม่เรียง ติธิ  (ดิถี) แต่ก็อีก บอกแล้วทาง อินเดีย นับถือทางจันทรคติ ขึ้น – แรม ฉะนั้นวันสำคัญจึงนับตาม ขึ้น – แรม แต่ละเทศกาลของแต่ละปี จึงไม่ตรงกัน เช่น ปี 2536 วันแรกคือ วันสักตะ จุฐ แต่พอปี 2556 ปีนี้วัน  โลหลี (Lohri)

ฉะนั้นต่อไป วันสำคัญให้ยึด ขึ้น – แรม ของเดือน

และอ่านแค่ว่า ‘เขาทำอะไรกัน’

อย่า ‘ยึดตามตำรา’ ว่าอะไรก่อนหลัง

ให้ไล่เรียงแต่ละปี ว่าช่วงนั้น ขึ้น – แรม อย่างไร (ถ้าหาปฏิทินได้)

จะทราบว่า การทำพิธี ทำอะไรก่อน – หลัง เป็นลำดับ

ตำราจะยึด วิธีปฏิบัติ ตามที่นายห้างเขียนไว้ แต่คงยึดหลักทางอินเดีย ที่เราอ่านพอรู้บ้าง การจะนับถืออะไร ควร ‘เรียนรู้’ บ้าง

เทศกาลเทพ ในอินเดีย จะทำให้ พอรู้ว่า พิธีกรรมเทพมีอะไร

เหมือนชาวพุทธต้องรู้ว่า วันสำคัญทางศาสนาพุทธมีอะไร

สำหรับบทสวดถวายเทพ จะพยายามหาบทย่อ ลงทีหลัง

บทยาวๆ ภาษาสันสกฤต น่าจะยากไป (สวดชินบัญชร กับธรรมจักร จำได้ไหมล่ะ)

‘รู้’ ต้องลึก (ซึ้ง) ด้วย รู้ผิวเผิน จะได้อะไร

อ่านไปเล่นๆ เถิด จะรู้มากขึ้น (เห็นไหม รู้มากดีนะ)

วิม-ลา.

0

article

เมานิ อัม – วัสยะ (MAUNI AMAVASYA.)

คำว่า อัมวัสยะ คือ แรม 15 ค่ำ ถ้าทางไทย วันอัมมาวสี

คำว่า เมานิ ภาษา สํ แปลว่า ดุษณียภาพ  (Silence)

วันนี้ถ้าตรงกับวันจันทร์ จะถือเป็นวันยิ่งใหญ่ มีมงคลมาก วันนี้คือ วันแรม 15 ค่ำ แห่งเดือน มารฆะ ผู้ถือพรต นอกจากถืออด ต้อง อด – กลั้น (อดโทสะ โมหะ ทั้งหลายให้หมด ดีนะ) แล้วไปจุ่มตัวอาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ (ผู้ที่อยู่ในพาราณสี คงไปแม่น้ำคงคา ในเมืองอื่น  คงใช้แม่น้ำสายอื่น เพราะแม่น้ำทุกสายศักดิ์สิทธิ์หมด)

วันนี้เป็นวันบูชาพระวิษณุเทพ อาบน้ำแล้วต้องไปเดินรอบต้น ‘อัสวัตถะ’ คือ ต้นไทรสามสอบ เนื่องจากใน ภควัตคีตา พระกฤษณะ ร่างอวตารของพระวิษณุเทพ – นารายณ์ รับสั่งว่า

..ระหว่างต้นไม้ทั้งหมด ข้าคือ อัสวัตถะ..

            ทางอินเดียว่า อัสวัตถะ คือต้นไทร แต่ทางไทย อัสสัตถพฤกษ์ คือ ต้นโพ โพใบ และบอกว่าคำ โพธิคำนามคือโพ

                        ฉนั้นกลายเป็น ไม้คนละชนิดเลย ระหว่าง โพ กับ ไทร

แต่ทางไทยนับต้น โพธิเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ (แต่ก็พบต้นไทรรวมๆไว้)

จึงมีคำ..ร่มโพธิ ..ร่มไทร.. เพราะไม้ใหญ่ ใบดก ให้ร่มกว้าง

            เอาละจะร่มโพธิ ร่มไทรก็เวียนเสียสามรอบ ถ้าเป็นผู้มีศรัทธาพอสมควร คงพอ หากเป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้าจะไป..

                        ณ สถานที่เรียกว่า ปรยัค (PRAGAD) ปรฺยต คือ ระงับ ไทยเอามาใช้ว่า ประหยัด

คือสถานที่อัน แม่น้ำคงคา ยมุนา สรัสวดี ไหลมารวมกันเรียก หริทวาร

คนไทยรู้จักกันดี ในชื่อ จุฬาตรีคูณ อยู่ที่ ฤษีเกศ (ฤษีลงมาสระผม เห็นทุกเช้าจริงๆ)

เราเคยไปอาบน้ำที่นั่น น้ำใส เย็นยั่งกับออกมาจากตู้เย็น ทิวทัศน์สวยมาก และหากเดินขึ้นภูเขาไป จะขึ้นถึง โคมุขคือจุดที่มีแอ่งน้ำ น้ำไม่เป็นน้ำแข็ง ทั้งๆ ที่บนภูเขา และรอบแอ่งน้ำมีแต่หิมะ แต่แอ่งน้ำตรงนั้นน่าจะมีน้ำพุร้อนข้างล่าง จึงเป็นแอ่งน้ำสีหยด แต่ฤษี นุ่งผ้าโธตีผืนเดียว เดินหน้าตาเฉย เท้าเปล่า ไม่มีแม้แต่รองเท้าแตะด้วย

นักพรตนอกจากฤษี จะมาพักสถานที่นี้เป็นเดือน เพื่อทำพิธีกรรม ‘กัลป์ปะ – วัส’ (KALPA – VAS)

กัลป ทาง สํ ว่า ช่วง

วัสส ทาง สํ ว่า ฤดูฝน

ฉนั้นน่าจะเหมือนเราเข้าพรรษา (คือ วัสสะ) สามเดือน

หากตลอดเวลาที่พำนักเขาจะร้องเพลงสวดสรรเสริญเทพเจ้า (ของไทยสวดมนตร์) และรับประทานอาหารเพียงมื้อเดียว (ของไทยถือศีลแปด) หรือ กินผลไม้อย่างเดียว หรือ ดื่มแต่น้ำกับนมเท่านั้น

ในอินเดียจะพบนักพรต กินแต่ผลไม้ หรือดื่มนมอย่างเดียวได้เสมอ

สาธุ ที่เก่งมากจะอดอาหาร ดื่มแต่น้ำ ก็ปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆ บางตน ‘เขาว่า’ (ในยูทูป) ไม่มีกินอะไรเลย

(เสพปราณ ต้องมีวิธี)

อยากไปไหม (อยากตายไหม)

วิม-ลา.

0

article

            อย่าคิดว่าจะทำตำราของนายห้างกุลดิป มาลอกง่ายๆ นะ เพราะนายห้างเขียนภาษาไทยแบบคนอินเดียพูดไทย คือตัวสะกดจะแผกเพี้ยน จนต้องยึดคำจากภาษา สํ เป็นหลัก คำภาษาของอินเดีย ก็มีทั้งอินเดียเหนือ อินเดียใต้เหมือนๆ กับคำไทยกลาง – ล้านนา – อีสาน – ใต้ ต้องมานั่ง ‘ตีความ’ บอกแล้วคนทิ้งตำราไว้ให้ก็ไปเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าเรียกแล้ว ไม่รู้จะถามยังไง

            อย่างเขียนไว้ สักตะ จูฐ น่ะ กว่าจะหาว่า เป็น จุฑา ก็เปิดพจนานุกรมทั้ง สํ ทั้ง ฮินดู

ต่อมานิทานที่ต่อท้าย พระนางรัตนาวตี กับอีกเล่มเขียน รัตนาวลี

เราก็ว่า เหมือนๆ กันแหละ จึงเลือก รัตนาวตี เพราะคำว่า วตี ไทยใช้ วดี แปลว่า นางแก้ว

หากพอทวนพจนานุกรม สํ รัตนาวตี  แปลว่า เครื่องประดับคอ น่าก็คงเป็น อัญมณี แหละ

ที่ต้องอธิบาย เพราะ ‘อย่าประมาณภาษา สํ’ เพราะเวลาแปล มันจะยุ่ง

อ่านสนุกๆ กับภาษาคั่นบ้างก็ได้ อย่างคำ มนตรี พจนานุกรมไทยแปลว่า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้ปรึกษา แนะนำ

แต่ มนตรี ใน สํ ไม่มี มีแต่ มนตรี , มตฺริ แปลว่า ปรึกษาหารือ

ถ้า มนฺตฺริน จึงแปลว่า ที่ปรึกษา

ถ้า มนฺตฺร คือ มนตร์ เลย คำอธิบายละเอียดทำให้ได้ความรู้ .. สูตรอันเป็น บุณยะ แด่เทพองค์ใดองค์หนึ่ง (สวดมนตร์ถวาย) เช่น

            โอม วิษณเว นมห (นะ-มะ-ห คือ นมัช หรือ นมัส)

หรือคำชี้แจง มีอยู่คำหนึ่ง ‘ไศล’ เราอ่าน สะไหล (Slai) เรื่อยมา แปลว่า ภูเขา

            ที่จริงทาง สํ ผิด! คำนี้ต้องอ่าน ไศ – ละ (Saila.)

ฉนั้นในการเขียน จึงพยายามเทียบ ภาษาเขียนของนายห้างกุลดิป กับภาษา สํ อันเป็นต้นแบบของ ฮินดู ให้ชัดเจน ผู้อ่านจะได้ความรู้ว่า ‘อินเดียเขามีอะไรกัน’ และความรู้ทางภาษา สํ   ซึ่งใช้ในภาษาไทยมากเช่นกัน

            เช่น ในหนังสือ ‘อภิธาน สํ –ไทย – อังกฤษ’

            ผู้ขอร้องให้ค้นหาคำศัพท์สันสกฤต คือ ขุนโสภิตอักษรการ

และผู้ลิขิต คือ นายร้อยเอก หลวงบวรบรรณารักษ์ (นิยม รักไทย)

                        วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2469

                        ถนน รองเมือง จังหวัดพระนคร

เราได้อาศัยอภิธานนี้เป็นคู่มือตลอดมา แม้แต่การค้นข้อความในพระเวท (เฉพาะตอน) ที่เป็นภาษาสันสกฤตอังกฤษล้วน

            ปีนี้ 2563 จวนครบ 100ปี ที่คุรุรจนา

            จึงต้องน้อมนมัสการไว้

ข้อสำคัญ บรมครู ด้านภาษาสันสกฤต

คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ท่านประทานคาถาไว้บทหนึ่ง

โอม ภควเต วาสุเดวายะ รามยะ

โอม วาสุเทวายะ (บทสั้น)

ที่เราสวดทุกคืนก่อนนอน ลองสวดบ้างไหม

วิม-ลา.

0

article

ประเพณี สักตะจูฐ เล่าไปแล้ว และก็เป็นประเพณีของอินเดีย เช่นกัน คือต้องมีบรรยายประกอบว่าทำไมต้องมีประเพณีแบบนี้ คนอ่านคงชอบมากกว่าฟังเรื่องประเพณีแท้

เรื่องของเรื่องคือ ในกาลครั้งหนึ่ง (จะครั้งไหนก็ช่าง อ่านไปเหอะ) มีพระราชาองค์หนึ่งทรงพร้อมด้วยทศพิธีราชธรรม (มี 10 ประการ อยากรู้ไปเปิดพจนานุกรม ) มีพระมเหสี พระนาม รัตนาวตี (RATNAWATI) ในตำราของอินเดียจะต้องรำพันถึงความงดงาม เฉลียวฉลาดเสมอ  แต่เคราะห์กรรมทำให้มีข้าศึกมารุกราม จนเสียเมืองต้องเสด็จไปอยู่ป่า (ตอนนี้ป่าไม่มีจะอยู่ ไฟไหม้หมดแล้ว)

วันหนึ่ง (จะวันไหนก็ช่าง) ไปพบฤษีตนหนึ่ง (ฤษีใช้ตน ถ้าองค์ จะเป็นชั้นราช ชั้นเทพ หรือ ชั้น พรหม) ฤษีตนนี้คือ มรกันเทยะ (MAKANDEYA) พระราชาก็เล่าเรื่องทุกข์ร้อนให้ฟัง พระฤษี ท่านก็ต้องตรวจคำให้การก่อนว่า จริงหรือไม่

ท่านทำสมาธิแล้วก็รู้ความจริง โดยไม่ต้องอาศัยพยานเอกสารมีแต่พยานบุคคล

พอลืมตา ท่านก็ว่าเป็นฉากๆเลย

อ๋อ..ในอดีตเคยทำบาปมานี่ เคยเป็นกษัตริย์นักล่าสัตว์ (รวมเสือดำด้วยหรือเปล่าไม่รู้ แต่ฟังไว้)

แต่เคยประกอบพิธี สักตะจูฐ เป็นประจำ ต่อมาก็หยุดไปเฉยๆ (จะเพราะลืม หรือ เศรษฐกิจตกต่ำก็ไม่รู้ ) ฉะนั้นกลับชาติมาเกิดใหม่เป็นกษัตริย์ แต่..บุคคลโบ๋เบ๋แล้ว เหลือแต่บาป (เหมือนเบิกหมดบัญชีนั่นแหละ) ฉะนั้นจะต้องทำพิธีถือพรตอดอาหารอีกครั้ง (ทำง่ายมาก เพราะอยู่ป่า ก็ไม่มีอะไรจะกินอยู่แล้ว เหมือนคนไทยทั้งประเทศกำลังคือศีลอด โบราณท่านบอกแล้ว ถ้าบ้านเมืองอาเพศ ให้สวดมนตร์ ถือศีลอด 15 วัน เราจึงต้องกักตัว 14 วัน คำทำนายและทำนางตรงเผ็งไหมล่า)

            พระราชากับนาง รัตนาวตี (คำว่า วตี หรือ วดี ก็แปลว่านาง)

             จึงถือศีล (กินมาม่า) บูชาพระคเณศ

ตอนจบ ก็จบเอาดื้อๆ

..และก็ได้ราชอาณาจักรคืน มีความผาสุกดังเดิม

(พวกเราก็ถืออดอยู่นี่ เขาก็จะคืนความสุขให้น่า..เข้าใจตรงกันนะ)

            ฉะนั้นในวันขึ้น – แรม 4 ค่ำ ของทุกเดือน ให้ถือเป็นวันบูชาพระคเณศ โดยถือศีลอด ทำสมาธิสวดบูชา

                        แล้วก็จะมีความสุข ตลอดไปเชิดชัย..ไชไย

คนไทยที่กำลังถือศีลตอนนี้ อดๆไปก่อนะเดี๋ยวดีเอง (ก็อดตายไง)

พอเจ้าโคเจ้าขวิดจนเหนื่อยก็คงไป

ผลดีก็มีนะ ทำให้เรารู้จัก ‘อยู่กับเหย้า เฝ้าแต่เรือน’

มีสันทนาการ ทำมิตรไมตรีในบ้าน (แต่บางบ้านอารมณ์เสียใส่กัน เกิดอริราชศัตรูในบ้าน)

คนรวยอย่าพูดถึง บาป แต่คนฐานะกลางๆ จะจนลง (ทำใจดีๆ เดี๋ยวหัวใจวายก่อน)

คนจนจะรู้จักคำว่า ‘ยาจก’

เห็นแมะ..เราได้รู้อะไรมากขึ้น..

รออ่านต่อไปนะ

วิม-ลา.

0