Your address will show here +12 34 56 78
article

‘อะไรทำให้คุณ​ ไม่ใช่พุทธ’

เคยอ่านหนังสือ​เล่มนี้ไหม​ ของ​ ซองซาร์  จัมยัง​ เคียนเซ  ที่คุณ​ รวิวาร​ โฉมเฉลา​ แปล​ ท่านเป็นนักบวช​ ในนิกายวัชรยาน​ หากจะนิกายใดก็ตาม​ เรามีพระพุทธเจ้าองค์​เดียว​กัน​ คำสอนจากกระแสธรรมเดียวกัน​ ท่านกล่าวว่า​

‘ไม่พึง​เลื่อมใส​ บุคคลใด​ ยิ่งกว่าปัญญาญาณ

ที่มีอยู่ในคำสอนของบุคคล​นั้น’

ปัญญา​นั้นต้องมาจากจิตใจ​ อันประกอบด้วยความเห็นชอบ​ อันจะทำให้เราจะถือพุทธศาสนา​ คริสต์​ อิสลาม​ หรือจะอะไรก็ตาม​ ‘​ความเห็น​ชอบ’ หรือมโนคติถูก​ต้อง​ เราจะมี​พฤติกรรม​ถูก​ต้อง​ ฉนั้นจะนับถือ​ศาสนา​ใด​ ย่อมจะเป็น​คนดี

ลองไปหาอ่านดูเถอะ​ แล้วจะเข้า​ใจ​ ‘ตราธรรมทั้งสี่’​ ของท่าน

ชาวพุทธ​ในประเทศ​ไทย​ จะกล่าวถึง​ การเคลื่อนกงล้อแห่งธรรม​ ครั้งแรกเมื่อตรัสรู้​แล้ว​ คือ​ สัจธรรม​สี่​ หรือ​ อริยสัจ​ กับ​ ปฏิจจสมุปบาท​ (การเกิดขึ้นเพราะการอิงอาศัยกัน, หรือสภาพ​อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น)​ หากท่าน​ เคียนเซ​ ได้กล่าวถึง​ ‘​ตราธรรมทั้งสี่’​ คือ​

สิ่งอันประกอบด้วย​ ปัจจัย​ ทั้งหลายทั้งปวงไม่จริง​ (อนิจจัง)

ทุกข์​อารมณ์​ ทุกความรู้สึก​คือทุกข์​  (ทุกขัง)

สรรพสิ่ง​ปราศจาก​จากตัวตนที่เที่ยงแท้​  (อนัตตา)

นิพพาน​อยู่​เหนือ​ความคิด

ท่านบอกว่า​ อย่านำตราธรรม​ของท่านไปปะปนกับ​ อริ​ยสัจสี่​ (ทุกข์​ สมุทัย​ นิโรธ​ มรรค)​ ซึ่ง​กล่าวถึง​ทุกข์​ สาเหตุ​ และ​ การดับทุกข์​

ตราธรรม​ทั้งสี่​ จะครอบคลุม​กว่านั้น

หากเมื่อขึ้นเครื่อง​บิน​ และคนต่างชาติ​ ที่นั่งใกล้ๆ เห็นท่านครอง​จีวร​ ก็เลยถามถึง.. ‘ธรรม’.. ของท่าน (ท่านเคียนเซ​ เป็น​ชาวภูฏาน.)​ ท่านก็อธิบาย​ตราธรรมนี่แหละ​ จนจบก็ได้ยินเสียง​กรนจากผู้​ถาม​ (ท่านไม่ทราบ​ว่า​ เขาจะเข้​าใจถึงตอนไหน)​ หากชาวพุทธ​อย่างเรา​ จะเข้าใจใน​ อนิจจัง​ ทุก​ขัง​ และอนัตตา​ อันเป็น​ปัญญา​แรกสำหรับคน​นับถือ​พุทธ​ศาสนา

“ถ้าไม่เข้าใจ​ว่า​ อะไรทั้งหลายทั้งสิ้น​ทั้งปวงที่มาประกอบกัน

มันไม่จีรังยั่งยืน​ คุณ​ก็ไม่ใช่ชาวพุทธ”

อัตตา.​ คือ​ ตัวตน​ มันยั่งยืน​กระนั้น​หรือ​ (จิ๋นซีฮ่องเต้​ เคยส่งเด็กชายและเด็กหญิง​ อย่างละ​ 11​ คนไปหา​ ‘น้ำพุแห่งชีวิต’​ แต่ลงท้ายจิ๋นซีฮ้องเต้ก็สิ้นพระชนม์)​ อัตตา.​ จะเป็น​ อนิจจัง​ ไม่เที่ยง​แท้​ แค่วันวานและวันนี้​ อัตตาเราเอง​ ก็เปลี่ยน​ไป​ สิ่งใดที่เริ่ม​สร้าง​ “การผุกร่อน​จะเริ่มในวันนั้นคู่กันไปเสมอ

จากสิ่งใหญ่โต​ จนถึง​ส่วนที่เล็กสุด​ คือ​ ATOM.

นักวิทยาศาสตร์​กล่าวว่า​ ATOM.​ เองก็เชื่อ​ไม่ได้

(ATOM​ มีนิวเคลียส​ ประกอบด้วย​ นิวตรอน​ โปรตอน​ อิเล็กตรอน

สิ่งที่เล็ก​กว่าคือ​ ควาร์ก​ และ​ String กับ​ String​ ยังตัดลงได้อีก​ เช่น เส้นผมตัดเป็นแผ่นเรียก Brian

และโลก​ ก็เป็​น​ อนิจจัง​เช่นกัน

“ถ้าเชื่อแน่ว่า​ มี​ อมตภาพ​ มีมโนทัศน์​ เที่ยง​แท้​ ถาวร​ คุณ​ก็ไม่ใช่ชาวพุทธ.”

ข้อนี้ก็เช่นเดียวกัน​ ตามหลักของอนิจจัง​ คือแม้แต่​ มโนทัศน์​ของเราก็เปลี่ยน​แปลง​ได้​ หาก​ ‘ปัญญา’​  คือความรู้แจ้ง​กระจ่างขึ้น

เราเคยรู้ว่า​ คนสมัยก่อน​ เชื่อว่าโลก​แบน

บัดนี้​ดาราศาสตร์​ ทำให้เรา​รู้​ว่า​ โลก​กลม

เราเคยเชื่อว่า​ โลกตัน​ มีระดับแตกต่าง​จนถึง​ แกนโลก

ตอนนี้​ ทฤษฎี​โลกกลวง.​ เกิด​ขึ้น

มนุษย์​เกิดแล้วต้องตาย​ เทวดา​มิใช่​ อมร​ เสมอ​ไป​ (อ​ = ไม่​, มร​ = ตาย)​ เพราะ​มีเวลาจุติ (ตายแต่ไม่ทิ้งซาก​ ไม่มีเชื้อ)

“หากคุณ​ไม่เชื่อ​ว่า​ ทุกอารมณ์​ ทุกความรู้สึก​ คือทุกข์

หากคุณ​เชื่อ​ว่า​ คุณ​จะมีความรื่นรมย์​เสมอไป​ คุณ​ไม่ใช่ชาวพุทธ”

คุณ​เกิด​ แก่​ เจ็บ​ ตาย​ คุณ​ดู​ภาพในทีวี​ จะเห็น​การเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย​ ฆ่าและถูก​ฆ่าทุกวัน​ คุณ​เห็น​ข่าวการฆ่าทุกวัน​ คุณ​เห็น​โลกกำลังพังทลาย​ คนตา​ยเป็น​ล้าน​ด้วยเชื้อ​โรคที่มองไม่เห็น

มายา​ ความว่างเปล่า​ แสดง​อยู่​ต่อหน้า

จะการเมือง​ การปกครอง​แบบไหน

ระบบอย่างไร​ ท้าย​สุด​ ว่างเปล่า​ ที่ดำเนิน​ไปคือ​ มายา

เท่านั้น​เอง-ตถตา

ถ้ายังไม่เข้าใจ​ ใน​ อนิจจัง​ ทุก​ขัง​ อนัตตา​ สาระสำคัญ​ที่​ เจ้าชายพระองค์​หนึ่ง​ ทรงทิ้งทุกอย่าง​ แม้แต่พระชนม์​ หากทรงมิได้คำตอบ​

อะไรคือทุกข์?

แล้วจะ​ ‘วาง’​ ได้อย่างไร? จนว่างได้จริงหรือ?

สาระ​สำคัญ​ที่ชาวพุทธ​จะต้องรู้เช่นนี้

และเมื่อทรงสอนยังกล่าวว่า​ “อย่าเพิ่ง​เชื่อ​ หากจงไตร่ตรอง​เสีย​ก่อน” ท่านเคียนเซ ย้ำประโยค​ของพระพุทธองค์​ และจนถึง​บัดนี้​ ขอย้ำพระพุทธพจน์นั้น จงไตรตรอง

จะตราธรรมทั้งสี่ของท่านเคียนซา​ หรืออริยสัจสี่​ ล้วนบอกถึง​ ความไม่เที่ยง​ ที่แม้จะคิดว่า

.. เอาละ​ เมื่อฉันตาย​ โลกและสังคม​ จะเป็นอย่างไรก็ตาม

แต่ลูก-หลานฉัน​ ควรมีชีวิต​ที่ดี..

คุณ​แน่ใจนะว่า​ ลูก-หลานจะมีชีวิต​ยืนนาน​ ลูก-หลานจะเป็นเช่นที่คิด​ จะมีความร่ำรวยเช่นที่อยากให้เขา​ เป็น​เพราะเขาเองก็ต้อง.. อนิจจัง​ ทุก​ขัง​ อนัตตา… เท่านั้นเอง!

วันนี้คุณ​อาจจะเชื่อมั่นว่า​ ตัวเองศรัทธา​ในพุทธศาสนา

แล้วคุณ​เชื่อมั่นใน​ เทพเจ้า​ หรือเปล่า

ถ้าพบ​ คนทรงที่ทำนายทายทักแม่นยำ​ คุณ​จะศรัทธา​ไหม

ศรัทธา​ ก็​ต้องอาศัย​ เหตุ​ ปัจจัย

ไม่ศรัทธา​ ก็อาศั​ย​ เหตุ​ ปัจจัย

อะไรมี​ เหตุ​ ปัจจัย​ รวมกันย่อมเป็น​ อนิจจัง​ ท้ายสุด​ อนัตตา

ถ้าไม่มีอะ​ไร​เลย​ จะน่าเบื่อ​ไหม

แล้วการ​ ‘รู้แจ้ง’​ จะให้อะไร

คุณไม่ทุกข์​ ไม่สุข​ มีแต่ว่าง​ แล้วจะเป็นยังไง​ ไม่มีอะไรสักอย่าง​ แล้วจะ​ รู้​แจ้งไปทำไม​ พระพุทธ​องค์​สอนว่า

นั่นไม่ใช่​ ว่าง​ ไม่ใช่​ รู้แจ้ง

แต่มันคือ​ อวิชชา

อวิชชา​ คือ​ ความไม่รู้

รากเหง้า​ของ​ ปฏิจจสมุปบาท

ห่วงแห่งต้นเหตุ​ของเหตุและปัจจัย​ของชีวิต​

 ซึ่งพระพุทธ​องค์​จะทรงแสดง​ว่า

ปฏิจจสมุปบาท​ 12​ ห่วงแห่งชีวิต​ มีอะไร”

สิ่งที่เราคิดว่า​ ‘รู้’​ เป็น​อวิชชา​ มาจากอะไรบ้าง

เป็น​กงล้อแห่งธรรม

เราจะเคลื่อนตามวงล้อนั้น

เพื่อ​ ความเป็​นชาวพุทธ​ที่แท้

เราจะเดินตามรอยบาทแห่งพระองค์​

0

article

ขอยกคำบาลี มากล่าวเพื่อให้รู้ว่า พุทธพจน์ได้กล่าวไว้ดังนั้น จะได้มั่นใจว่า การทำความเข้าใจในวิญญาณ มิได้แผกจากพุทธศาสนา และเป็นความเข้าใจแต่แรกเริ่ม เพราะหากไม่เข้าใจว่า

วิญญาณคืออะไร มาจากไหน

การปฏิสนธิ วิญญาณ ‘มา’ อย่างไร

และพอตาย ที่ว่า วิญญาณออกจากร่างไปทางไหน

แล้วเราก็เข้าใจกันว่า วิญญาณคือผี

ดังนั้นจึงต้องเข้าใจเรื่องวิญญาณให้ลึกซึ้งเสียก่อน หาไม่จะพูดเรื่อง กรรม วิบากกรรม การกลับชาติมาเกิดรวมทั้ง นรก สวรรค์ ไม่ถูกต้องเลย

เรากลัว กรรม จนหาวิธี ล้างกรรม ทำได้จริงไหม

เรากลัว นรก แต่ไม่แน่ใจเรื่องสวรรค์ จะเชื่อได้ไหม

การศึกษาเรื่องวิญญาณ คือพื้นฐานทั้งหมด เรามาจากไหน ‘อะไร’ มาปฏิสนธิในครรภ์มารดา กับปัญหาที่สงสัยกันเป็นอันมากคือ

“ทำไมคนเกิดมากขึ้น ?”

เหตุและปัจจัย ล้วนมาจากวิญญาณทั้งสิ้น

เหตุ คือเค้ามูลเรื่องราวสิ่งที่ทำให้เกิดผล

ปัจจัย คือเหตุที่ทำให้ผลเป็นไปหรือเครื่องหนุนให้เกิด

ในการทำความเข้าใจ จะใช้คำอธิบายง่ายๆ เช่นของอาจารย์พรล้วนๆ แต่บางคำในทางธรรมกับทางโลกก็ยังผิดยังกันได้ เช่น ปัจจัย จะแปลว่า เครื่องยั้งชีวิต คือ ทรัพย์ ก็ได้ และที่แทรกคำบาลีไว้ เพราะเป็นคำที่ ‘ควรพอรู้’ เนื่องจากถ้าไปพบธรรมบรรยายที่ใด จะทำให้พอทราบบ้าง

สิ่งแรกที่ เราควรทราบคือ วิญญาณคืออะไร

และเป็นเรื่องแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ วิญญาณไม่ใช่ผี

วิญญาณนั้นเป็นอีกสิ่งหนึ่งนอกร่างกาย เป็นคำเดียวกับภาษาบาลีคือ จิต มโน วิญญาณจึงไม่ใช่สมอง กระแสไฟฟ้า กระแสแม่เหล็ก (หากมีคุณสมบัติบางอย่างละม้ายกัน ซึ่งจะอธิบายต่อไป)

วิญญาณเป็นพลังงานชนิดหนึ่ง แต่เป็น นามธรรม

นามธรรม คือสิ่งที่สัมผัสไม่ได้ด้วยประสาททั้งห้า

ฉะนั้นวิญญาณ จึงเป็นอสรีรํ คือ อสรีระ ไม่มีรูป

กับ เอกะ จรํ คือ ไปแต่ผู้เดียว

ฉะนั้น วิญญาณ กับ โอปะ ปาติกะ จึงไม่เหมือนกัน

ด้วยเหตุนี้ ที่เราว่าคนตายมาปรากฏให้เห็น แล้วเราเรียกว่า ผี จึงมิใช่ แต่เป็นชีวิตประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นทันทีโดยสมบูรณ์

ดังที่พระพุทธองค์รับสั่งถึง กำเนิดสี่ คือ

ชลาพุชะ   สัตว์ที่เกิดในครรภ์  คลอดออกมาเป็นตัว เช่น คน สุนัข

อัญฑชะ    สัตว์ที่เกิดมาเป็นฟอง และฟักเป็นตัว เช่น นก เป็ด ไก่

สังเสทชะ   สัตว์ที่เกิดจากไคล  เช่น หนอน พยาธิ แบคทีเรีย

โอปปะปาติกะ คือ เกิดแล้วเป็นตัวทันที เช่น มนุษย์บางพวก เทวดา สัตว์นรก เปรต เหล่านี้เวลาสิ้นอายุขัย ก็จะไม่เหลือ เชื้อหรือซาก

โอปปะปาติกะ ที่เป็นเทวดา   เราเคยรู้ แม้ไม่เคยเห็นก็เข้าใจได้ ทว่าที่บอก ‘มนุษย์บางพวก’ นั้นไม่ค่อยจะเชื่อกันนัก ยกเว้นคนเคยเห็น คนลับแล (ลับ-แล ยากจะเห็น) หรือ คนบังบด (บังไม่ให้เห็น)

ฉะนั้น เทวดา ,เทพ,เทวะ ก็คือ โอปปาติกะ พวกหนึ่ง

โอปปะปาติกะ นี้มีจำนวนมากมาย มากกว่าชีวิตมนุษย์ไม่รู้กี่พันเท่า

ฉนั้นจึงมี โอปปะปาติกะ มาเกิดได้มาก เพิ่มได้เสมอ

แต่ช่วงระยะเวลาจะมาเกิดแตกต่างกัน ซึ่งจะค่อยๆอธิบายต่อไป

ฉนั้นเมื่อพูดถึง พลังงานวิญญาณ จะมีนัยยะ 6 ประการ ทางพุทธศาสนา

ตาเห็น   เรียก  จักษุวิญญาณ

หูได้ยิน   เรียก  โสตวิญญาณ

จมูกได้กลิ่น  เรียก  ฆานะวิญญาณ

ลิ้นรู้รส  เรียก  ชิวหาวิญญาณ

การรู้สึกสัมผัส  เรียก  กายวิญญาณ

ความรู้สึกนึกคิด  เรียก มโนวิญญาณ (มน+วิญญาณ)

(มะนะ=ใจ+วิญาณ=วิ=ดี,วิเศษ,ต่างๆ ญาณ=ธาตุรู้)

ที่เขียน มน = มะนะ หรือ วงเล็บสระ อะไว้ เพื่อให้อ่านถูก เพราะ คำศัพท์จะมีทั้ง บาลี สันสกฤต ที่พยัญชนะโดดๆ หมายความว่า การออกเสียงจะมี อะ เสมอ หรือถ้าตัวหน้าเสียงสูง การอ่านจะออกเสียงสูงด้วย เช่น

ศรี เราจะอ่านสี หากความจริงต้องอ่าน สะ-หลี

หาไม่จะอ่านเสียงเดียวกัน ความเข้าใจจะสับสน

แต่ไศล เราอ่าน สะไหล แปลว่า ภูเขา

ความจริงอ่านไศ-ละ

ในการเขียนพยายามจะบอกการอ่าน ซึ่งต่อไปจะรู้วิธีเองและจะเข้าใจศัพท์ดีขึ้น เพื่ออธิบายว่า วิญญาณเป็น อสรีรํ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีวรรณะ ไม่มีสี-เสียง

คำถามคือ เวลาทำสมาธิแล้วมีแสงสว่างได้ยังไง

แสง หรือ สี นั้น ไม่ใช่ วิญญาณ

หากเป็น แสง-สี จากจิต เกิดจากจิต

ปัญหาต่อไปคือ จิตกับวิญญาณเหมือนกันไหม?

อาจารย์พร เคยให้คำตอบไว้ว่าในคัมภีร์พระไตรปิฎก และคัมภีร์พุทธศาสนาทั้งหมด คำเหล่านี้มีความหมายเหมือนกัน คือ จิต มโน มนัส วิญญาณขันธ์

(ไตรปิฎก = ไตร =3 ปิฎก = ตระกร้า ประกอบด้วย วินัยปิฎก คือ พระวินัย สุตตันตปิฎกคือพระสูตร = อภิธรรมปิฎก คือ พระอภิธรรม)

พระไตรปิฎก หากอยากจะทราบ ควรหา ‘พระไตรปิฎก’ สำหรับประชาชนมาอ่าน จะเข้าใจได้ง่ายความจริงในพุทธพจน์ยาวกว่านั้น หากยกมาแค่ 2 คำ เพียงเพื่อรู้ว่า ..จิตหรือวิญญาณเป็นนามธรรม ไม่มีรูป และ ไปแต่ผู้เดียว เกิด-ดับ เร็วมาก เหมือน ไฟฟ้ากระแสสลับ ที่เราเห็นแสงติดต่อกัน หาเราจับไม่ได้ถึงกระแสสลับ เกิด-ดับ นั้น

ด้วยเหตุนี้ ลูกแฝด ก็มิได้มี จิตปฏิสนธิพร้อมกัน

แม้ตายพร้อมกัน หากจิตวิญญาณจะมิได้ไปอยู่ที่เดียวกัน เนื่องจากวิบากกรรมต่างกัน

หากจะถามว่า ‘ทำไม’ คำตอบจะตอบตอน ‘กรรมและวิบากของกรรม’ หากเราเข้าใจ ‘จิตวิญญาณ’ แล้ว ก็จะเข้าใจกฎแห่งกรรมดียิ่งขึ้น

กฎแห่งกรรม เป็นกฎที่สำคัญยิ่งในพุทธศาสนา

วิญญาณนั้นรู้ถึงอารมณ์มีมาสัมผัส หากไม่เข้าใจ คือ ‘รู้สักแต่ว่ารู้’ เพราะความเข้าใจ เป็น เจตสิก คือ ปัญญา ฉะนั้นรู้สึกแต่ว่ารู้ จึงมีต่อสิ่งที่มีชีวิตทุกประเภท ซึ่งพืช แม้แต่สัตว์เซลล์เดียวก็มีชีวิตแบบ รู้สึกแต่ว่ารู้

ฉะนั้นเมื่อรู้แล้วมีปัญญาจึงเป็นชีวิตอีกแบบหนึ่ง การกล่าวว่าต้นไม้มีชีวิต เพราะต้นไม้มีกรรมวิธีการเกิด แบบคนและสัตว์เจริญจากรากฐานภายใน (ทางวิทยาศาสตร์หมายถึงดี.เอ็น.เอ.) เติบโตจากอาหารได้ทางราก มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีการสืบพันธุ์ มีเกสรดอกตัวผู้ ตัวเมีย (บางชนิด ตอน. หรือ เพาะจากเนื้อเยื่อ – โคลนนิ่ง)

ทุกอย่างของต้นไม้ จึงมีความหมาย มีชีวิต

 ต้นไม้ย่อมมีวิญญาณ ทว่า ‘รู้สักแต่ว่ารู้’

ประโยคนี้เราจะได้ยินตอนทำสมาธิ เพื่อให้สงบดุจ ต้นไม้ ..รับรู้สึกแค่รู้ รับรู้แต่ไม่รับเอามาเป็นอารมณ์..

รู้. ที่กล่าวจึงเป็น รู้ทางอายตน = ตาดู หูฟัง เพราะวิญญาณ มีอยู่ 2 ประเภท

วิถีวิญญาณ แปลว่า จิตสำนึก จิตที่เกิดตามวิถี วิถี = ทาง ซึ่งรู้กันอยู่แล้วว่ามี หกทวาร ทวาร = ประตูทางเข้า-ออก ตา หู จมูก ลิ้น กาย มโน (กาย = กายสัมผัส รู้ ร้อน เย็น , มโน คือ เกิดทางใจ ที่คิดไปสร้างไปต่างๆทางบาลีเรียกสังขาร)

ภวังค์วิญญาณ แปลว่า จิตไร้สำนึก จิตนี้แม้เกิด จะเป็นเวลาที่ไม่รู้ตัว  เช่น หลับสนิทไม่ฝัน คำนี้แยกศัพท์ ได้เป็น

ภว+องคฺ+วิญญาณ (วิ+ญาณ)

ภว = ภพ

องคฺ = ส่วนที่สำคัญ,รากฐาน

วิญญาณจึงเป็นรากฐานสำคัญ ขณะที่เรา อ่าน เรียน เราก็มีวิญญาณ แม้ยามอยู่ในท้องมารดา ก็มีวิญญาณ หากถ้าเด็กดิ้น จะไม่รู้ตัวว่าดิ้น ยามหลับสนิท ถ้าถูกแตะเบาๆ จะไม่รู้สึกตัว

ฉะนั้น ขณะนั้นเรียก อยู่ในภวังค์วิญญาณ

มนุษย์ จึงมี รูปและวิญญาณ อันเป็นนามธรรม

ทว่า นาม+รูป ทางพุทธศาสนากล่าวว่า

สวาสุ นามรูปํ ทุกขํ

สวาสุ นามรูปํ อนิจจํ

สวาสุ นามรูปํ อนตฺตา

การทำความเข้าใจใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นความเข้าใจ พื้นฐานของชาวพุทธ อันจะนำไปสู่ธรรมะในหัวข้อ

อริยสัจ

ปฏิจจสมุปบาท

ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เป็นการเริ่ม ‘กงล้อแห่งธรรม’

0

article

(อรรถ + วิชญาน = ต้นเหตุ ,เริ่มเรื่อง)

ถ้าได้ริเริ่มศึกษาจาก อาจารย์ พร. รัตนสุวรรณ. จะเริ่มต้นด้วย ’ ‘วิญญาณ’ เสมอ เพราะอาจารย์กล่าวว่า ยุคต่อไปจะเป็นยุคของวิญญาณ คำว่า ‘ยุคนี้’ คือยุคที่อาจารย์ทำนิตยสารวิญญาณแจกฟรี และโรงพิมพ์วิญญาณที่บางลำภู เราจะพบอาจารย์ กับ คุณศรีเพ็ญ ที่นั่น

อาจารย์จะพร่ำสอน วิญญาณคืออะไร

ถ้าความรู้เรื่อง วิญญาณ ไม่แจ่มชัด ซาบซึ้ง

จะไม่เข้าใจ ‘ชีวิต’ ทุกกระบวนการ ไม่เข้าใจคำว่า ‘กรรม’

และท้ายสุดจะสรุปว่า ‘วิญญาณคือผี’

ซึ่งผิดอย่างยิ่ง (แต่เราก็เคยคิดเช่นนั้น)

และ สารัตถะ สำคัญที่อาจารย์พร กล่าวไว้ในหนังสือวิญญาณ ทุกเล่มคือ

วิญญาณคือ อรุณรุ่ง ของยุคพระศรีอาร์ย’  (อารย์ =อารยะ)

ครั้นเมื่อสิ้นอาจารย์พร คุณศรีเพ็ญ ไปยุ่งกับการจัดสร้างแค้มป์สน ที่เพชรบูรณ์ สำหรับเป็นสถานธรรมให้แล้วเสร็จ และยังวัดไทยราชคฤห์อินเดีย

แม้ยังเคยพบกันบ้าง หากการสานโครงการมีมากมาย ..ศรีเพ็ญหาตัวยากเหลือเกิน

จนคิดว่า ในฐานะนักเขียน เราคงพอสืบทอดเจตนารมณ์ ในการบันทึกคำสอนไว้ได้

ศิริ พุธศุกร์จะปรึกษา อาจารย์ศิริ พุธศุกร์ (คนแปลหนังสือวิญญาณของฝรั่งไว้) ท่านก็ตามอาจารย์พรไปแล้ว

และพอคิดจะบันทึก เราไปค้นหนังสือที่บ้านลาดพร้าว

ก็ได้หนังสือของอาจารย์พร มาเป็นตั้ง รวมทั้งนิตยสารวิญญาณฉบับเก่าๆ (ใครว่าบังเอิญ)

จึงคิดเองเออเองว่า อาจารย์คงอนุญาตให้ทำงานต่อแล้ว

เพราะจะวิ่งตามหาคุณศรีเพ็ญ ให้เข้าสมาธิตามไปถามอาจารย์ ก็หาไม่พบ

จึงสวดมนตร์และขออนุญาตอาจารย์ ..ถ้าสิ่งที่จะนำมาบรรยาย เป็นการกระทำที่ถูกต้อง ก็ขอให้สำเร็จตามที่อาจารย์ตั้งเจตนารมณ์ไว้.. ก็คิดว่าจะมีคน ‘เริ่ม’ มาฟังสิบคนก็ดีแล้ว หากมาถึงตอนนี้

ทั้งศีลวดี และ ศีลบดี ต้องแบ่งเป็นสองชุดต่อเดือน

เพราะชุดแรกเต็มแล้ว คนที่อยากเข้าฟังต้องแบ่งเป็นชุดที่สอง

เราใช้วิธี กราบลง เล่าให้อาจารย์ฟังว่า งานของอาจารย์ ‘เดิน’ ได้แล้ว

รุ่งอรุณแห่งยุคพระศรีอารย์’ เริ่ม

ฉะนั้นขอให้ ศีลวดี ศีลบดี ทั้งที่เข้าฟังคำบรรยายที่เทวาลัย (เดือนละ2ครั้ง) และผู้ที่ไป-มา คอยอ่านจากเฟส หรือจาก ยูทูป ก็ตาม จงเข้าใจว่า

คำบรรยาย ถอดมาจากคำสอน อาจารย์พร รัตนสุวรรณ

ถ้ามีข้อพลาดพลั้งจะเป็น ‘ความรับผิดชอบของข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว’

ฉะนั้นในคำบรรยายจึงเริ่มด้วย

ครั้งแรก รูป – นาม

ครั้งที่สอง วิญญาณ ฯลฯ

ครั้งต่อไปคงเป็นเรื่องกรรม แต่ละหัวข้อจะบรรยาย ต่อไปเรื่อยๆ

ไปด้วยกันนะ

उมยันตี/.

0